
กงหราในนิทาน "เมืองสิด-แหมะเว" เล่าขานฉากบ้านภูมิเมือง
“เมืองสิด-แหมะเว” กับชุมชนกงหรา-ชะรัด
ชุมชนกงหรา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ชุมชนหนึ่งที่มีอายุยาวนานนับย้อนไปได้ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอย่างช้า โดยเฉพาะในเขตตำบลชะรัด พัฒนาขึ้นจากการอพยพของมุสลิมหัวเมืองมลายู จึงมีชาวบ้านทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเอกลักษณ์โดดเด่นในแง่การอยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนของคนต่างศาสนา
นอกจากเอกลักษณ์โดดเด่นในแง่การอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนาที่สามารถมองเห็นได้อย่างทุกวันนี้แล้วชุมชนกงหรายังมีวรรณกรรมประจำถิ่นเรื่องสำคัญที่สามารถอธิบายเรื่องความสัมพันธ์นี้ได้อีกด้วยคือ “เมืองสิด-แหมะเว” หรือ “เมืองสิด (ขุนแกล้ว) แหมะเว”
“เมืองสิด-แหมะเว” เล่าถึงตัวเอกฝ่ายชายซึ่งเป็นมุสลิมที่ข้ามภูเขาผ่านทางโบราณช่องนกรำมาจากเมืองปะเหลียนเพื่อแต่งงานอยู่กินในลักษณะ “แต่งเข้าบ้านผู้หญิง” แต่เมียตาย จึงหมายฉุดน้องเมียคนงามทำเมียคนที่สอง
ส่วนฝ่ายหญิงเป็นมุสลิมจากกงหราทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในฐานะคู่พระคู่นางที่ฝ่ายชายใช้กำลังกดบังคับให้ฝ่ายหญิงสมัครใจปองจนกระทั่งเกิดเรื่องอื้อฉาวเจ้าหน้าที่รัฐต้องจัดการ
วรรณกรรมเรื่องนี้มีความสำคัญกับชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างมากเพราะเชื่อว่าเคยเป็นมุขปาฐะก่อนจะกลายเป็นลายลักษณ์อักษรจากการที่คนในท้องถิ่นหยิบมาชำระและเผยแพร่ใหม่เมื่อปีพ.ศ. 2496 และได้รับความนิยมเสมอมาในฐานะที่บันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนเอาไว้ด้วยเนื่องจากมีฉากที่เชื่อมโยงเข้ากับสถานที่จริงในปัจจุบันได้เช่นบ้านในวังซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งบ้านของนางแหมะเวหรือบ้านต้นประดู่ที่เป็นที่ตั้งของบ้านขุนเพชรขุนรามหัวหน้าผู้ชำระความคดีเมืองสิดฉุดลากและข่มขืนแหมะเวตลอดจนการแทรกเล่าตำนานหุบเขาพญาโฮ้งตำนานทวดโหมที่เป็นบ่อเกิดของประเพณีบูชาทวดโหมในปัจจุบัน
มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าวรรณกรรมมีกำเนิดมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆด้วยเหตุนี้ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการพิมพ์จำหน่ายหลายครั้งด้วยกันวิธีนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการรักษาต้นฉบับและเผยแพร่ออกไปสู่การรับรู้ในวงกว้างทั้งในและนอกท้องถิ่นล่าสุดนายสมคิดนวลเปียนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุงได้แต่งสำนวนใหม่ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่และรักษามรดกอันทรงค่านี้ไว้
สำหรับชาวชุมชนกงหรา-ชะรัดแล้ว “เมืองสิด-แหมะเว” จึงมีความหมายและมีคุณค่าทั้งในแง่ผลผลิตของชุมชนและการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นวรรณกรรมที่มีชีวิตชีวาอยู่ในการเล่าและความรับรู้ของชาวบ้านมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประยุกต์วรรณกรรมท้องถิ่นให้มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ และการเพิ่มมูลค่าให้แก่มรดกทางวัฒนธรรมเพื่อความงอกงามทางสังคมท้องถิ่นต่อไป












23 - 29 สิงหาคม 2564
56,663 total views, 54 views today